วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

วิชาการจัดการความรู้ ระบบการจัดการความรู้ในภาคธุรกิจและภาครัฐ

ระบบการจัดการความรู้ในภาคธุรกิจและภาครัฐ
การมุ่งสู่การจัดการภาครัฐสมัยใหม่
การจัดการองค์การไม่ว่าจะเป็นองค์การภาครัฐหรือภาคเอกชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อาศัยองค์ความรู้ของทฤษฎีองค์การซึ่งผ่านวิวัฒนาการหรือพัฒนาองค์ความรู้มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน หากปราศจากการพัฒนาองค์ความรู้ด้านทฤษฎีองค์การมาอย่างต่อเนื่องแล้วการจัดการองค์การจะไม่ได้รับพัฒนาด้วยเช่นกัน  สำหรับวิวัฒนาการของทฤษฎีองค์การนั้นมีนักวิชาการหลายท่านได้พยายามจำแนกหรือแบ่งกลุ่มทฤษฎีองค์การเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและการนำไปใช้ ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างการแบ่งกลุ่มของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการทฤษฎีองค์การและการจัดการท่านหนึ่ง คือ            W. Richard Scott ได้แบ่งทฤษฎีองค์การออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (Scott, 1998, pp. 24-28)
กลุ่มแรก คือ กลุ่มทฤษฎีองค์การที่เน้นการใช้หลักเหตุผล (rational systems) เป็นทฤษฎีองค์การกลุ่มแรกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของโครงสร้าง (structure) โดยเน้นให้องค์การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง (specific goals) และมีความเป็นทางการสูง (high degree of formalization) ส่งเสริมค่านิยมขององค์การในเรื่องประสิทธิภาพ ความเป็นทางการ การทำงานเหมือนเครื่องจักร ระบบปิด ใช้หลักเหตุผล เป็นต้น  ทฤษฎีองค์การในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นทฤษฎียุคดั้งเดิม หรือคลาสสิก
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มทฤษฎีองค์การที่เน้นให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของคน (natural systems) เป็นทฤษฎีองค์การที่เกิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างของทฤษฎีองค์การกลุ่มแรกที่ใช้หลักเหตุผลและไม่ให้ความสำคัญกับคนในองค์การ  ดังนั้น ทฤษฎีองค์การกลุ่มนี้จึงให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ เน้นความไม่เป็นทางการและความเป็นธรรมชาติ และ
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มทฤษฎีองค์การระบบเปิด (open systems) เป็นทฤษฎีองค์การที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการแนวความคิดของทฤษฎีทั้งสองกลุ่มแรกเข้าด้วยกัน เพื่อลบจุดอ่อนแล้วนำจุดเด่นของทฤษฎีทั้งสองมาใช้กับองค์การ  ซึ่งทฤษฎีสองกลุ่มแรกเป็นทฤษฎีระบบปิด (closed system) คือ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สนใจแต่เรื่องภายในองค์การเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อความอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองขององค์การ  เพราะปัจจัยภายนอกองค์การมีผลกระทบต่อองค์การในมิติต่าง ๆ อยู่เสมอ จึงอาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีทั้งสามกลุ่มข้างต้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและกาลเวลา แต่สิ่งที่ทฤษฎีทั้งสามกลุ่มนี้มีเหมือนกัน ก็คือ การให้คุณูปการหรือประโยชน์ต่อองค์การมาจนถึงปัจจุบัน  ถึงแม้ว่าองค์การในปัจจุบันจะเข้าสู่ยุคของการจัดการสมัยใหม่ในศตวรรษที่21 ก็ตาม  แต่ทฤษฎีองค์การที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ยังมีหลายทฤษฎีที่ร่วมสมัยและสามารถนำมาบูรณาการได้กับการจัดการองค์การในยุคโลกาภิวัตน์นี้ได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการนำมาประยุกต์ใช้ของผู้นำองค์การเป็นสำคัญ
เพื่อให้เข้าใจบริบทการจัดการภาครัฐในปัจจุบันมากขึ้น จะขอกล่าวถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของการจัดการองค์การภาครัฐมาจนถึงปัจจุบันนี้ สืบเนื่องจากการเกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการรัฐประศาสนศาสตร์ ก็คือ ความเคลื่อนไหวสู่รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (new public administration) ซึ่งเริ่มเมื่อปลายทศวรรษที่ 1960  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้นำไปสู่การพัฒนาองค์การภาครัฐในระยะเวลาต่อมาและยังส่งอิทธิพลมาสู่การจัดการภาครัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าการเกิดกระแสรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่จะผ่านกาลเวลามาเกือบกึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ ยังคงเป็นแนวความคิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการบริหารรัฐกิจ หรือการจัดการองค์การภาครัฐ  ซึ่งแนวความคิดของรัฐประศาสนศาสตร์ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970  จนถึงปัจจุบันได้รับอิทธิพลสืบต่อกันมาจากแนวความคิดดังกล่าว และเพื่อเชื่อมโยงกับแนวความคิดของการจัดการภาครัฐ ที่ปรากฏในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงขอสรุปสาระสำคัญของกระแสความคิดรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ ดังต่อไปนี้
ประการแรก คือ การบริหารงานที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม (social relevance) หมายความว่า รัฐประศาสนศาสตร์ควรสนใจปัญหาของสังคมโดยเฉพาะเป้าหมายสาธารณะที่สำคัญ ๆ นักวิชาการในกลุ่มนี้เห็นว่านักบริหารควรนึกถึงปัจจัยของค่านิยมและการเมืองในการพิจารณาปัญหาการบริหาร วิชาความรู้ควรจะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานให้ได้  ดังนั้น จึงให้ความสนใจกับเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ โดยเหตุนี้นักรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักพฤติกรรมศาสตร์ยุคที่สอง (second generation behavioralist)  เป็นสมัยยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (post-behavioralism) นั่นเอง
ประการที่สอง คือ แนวความคิดนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับค่านิยม นักรัฐประศาสน-ศาสตร์ในความหมายใหม่ ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนิยม หรือปฏิฐานนิยมทางตรรกวิทยา (logical positivism) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ไม่ให้ความสนใจกับค่านิยม (value free) นักวิชาการ กลุ่มนี้อธิบายว่า รัฐประศาสนศาสตร์จะหลีกเลี่ยงเรื่องของส่วนรวมและการเมืองไม่ได้ ดังนั้น รัฐประศาสนศาสตร์ควรให้ความสนใจกับการศึกษาแบบปทัสถานให้มากขึ้นซึ่งหมายความว่า การศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ควรจะสนใจความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและกระบวนการบริหารกับเป้าหมาย และนักบริหารควรจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือบุคคลที่เสียเปรียบทางสังคม  ซึ่งก็คือ การใช้ค่านิยมอย่างหนึ่ง  กล่าวโดยสรุป ก็คือ นักบริหารจะวางตัวเป็นกลางได้ยาก เพราะถ้าวางตัวเป็นกลาง คนที่ได้เปรียบทางสังคมก็จะได้เปรียบยิ่งขึ้น คนที่เสียเปรียบก็จะเสียเปรียบตลอดไป สังคมก็จะเกิดช่องว่างไม่น่าอยู่  ดังนั้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ต้องใช้ความรู้และความเฉลียวฉลาดเพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น
ประการที่สาม คือ ความเสมอภาคทางสังคม (social equity) นักบริหารต้องใช้ค่านิยมเข้าไปช่วยคนจน หรือผู้ที่มีโอกาสน้อย หรือผู้เสียเปรียบทางสังคม เช่น สตรี คนพิการ หรือชนส่วนน้อยในสังคม เป็นต้น โดยรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคทางสังคมที่ว่า ความประหยัดและประสิทธิภาพนั้นไม่เพียงพอที่จะถือเป็นแนวทางการบริหารงาน เนื่องจากปัญหาของสังคมทุกวันนี้เกิดจากความไม่เสมอภาคของประชาชนในการรับบริการจากรัฐ ดังนั้น รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายบริการสาธารณะให้กับคนในสังคมให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมและทั่วถึงกัน และประการที่สี่  ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลง (change) ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางสังคมให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสังคมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักบริหารองค์การจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมอยู่เสมอ (อุทัย เลาหวิเชียร, 2520,หน้า 65-91; 2543, หน้า 33-34)

จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กระแสความคิดรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ เป็นแนวความคิดหรือทฤษฎีในยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (post-behavioralism) ที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของสังคม ค่านิยม รวมถึงการใช้แนวทางมนุษยนิยม (humanism) ในการบริหารงาน ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางสังคมและตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเน้นการกระจายอำนาจ (decentralization) การมีส่วนร่วม (participation) และการบริหารงานเพื่อผู้รับบริการ (client-focused) เป็นต้น ซึ่งแนวความคิดการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ได้ขานรับนำเอากระแสความคิดดังกล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ในการจัดการองค์การภาครัฐในปัจจุบัน  
การปฏิรูปวัฒนธรรมองค์การ: การมุ่งสู่การจัดการภาครัฐสมัยใหม่
ปัจจุบันองค์การภาครัฐมีการตื่นตัวที่จะพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงในองค์การมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ  การสร้างความเสมอภาค รวมถึงให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ในองค์การตามแนวความคิดมนุษยนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ ทำให้องค์การจะต้องพัฒนาและปรับตัวอยู่เสมอ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวความคิดหรือทฤษฎีองค์การแบบระบบเปิด รวมถึงอิทธิพลจากกระแสความคิดรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980เป็นต้นมา เราได้เห็นภาพที่องค์การต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับขบวนการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์การ(organizational culture reform movements) ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น  ดังนั้น นักคิด หรือนักวิชาการจึงให้ความสำคัญและความสนใจในการพัฒนาแนวความคิดในการปฏิรูปวัฒนธรรมขึ้นมามากมาย ยกตัวอย่าง เช่น (Shafritz & Ott, 2001, pp. 426-431)
1. Total Quality Management (TQM) จากผลงานของ Crosby ในปี ค.ศ. 1979 และ 1984  Deming ในปี ค.ศ. 1986 และ 1993 Joiner ในปี ค.ศ. 1994 Juran ในปี ค.ศ. 1992 Walton ในปี ค.ศ. 1986
2.  Japanese Management จากผลงานของ Ouchi ในปี ค.ศ. 1981 Pascale and Athos ในปี ค.ศ. 1981
3.  The Search for Excellence จากผลงานของ Peters และ Waterman ในปี ค.ศ. 1982  Peters ในปี ค.ศ. 1987
4.  Sociotechnical Systems or Quality of Work Life (QWI) จากผลงานของ Weisbord ในปี ค.ศ. 1991
5. Learning Organizations จากผลงานของ Cohen and Sproull ในปี ค.ศ. 1996 Senge ในปี ค.ศ. 1990
6. Productivity Measurement/Balanced Scorecard จากผลงานของ Berman ในปี ค.ศ. 1998 Cohenและ Eimicke ในปี ค.ศ. 1998 Eccles ในปี ค.ศ. 1991 Kaplan และNorton ในปี ค.ศ. 1992, 1993 และ1996
7.  Reinventing Government จากผลงานของ Barzelay ในปี ค.ศ. 1992 Osborne และ Gaebler ในปี ค.ศ. 1992 Gore ในปี ค.ศ. 1993
8. Reengineering, Process Reengineering, or Business  Reengineering จากผลงานของ Hammer และChampy ในปี ค.ศ. 1993 เป็นต้น
จากตัวอย่างข้างต้นนี้ พอจะทำให้เราได้เห็นกระแสความเคลื่อนไหวทางความคิดเกี่ยวกับองค์การในช่วงสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งการจัดการองค์การในศตวรรษที่21 นี้ มีความสลับซับซ้อนกว่าอดีตที่ผ่านมาเป็นอันมาก จำเป็นที่ต้องอาศัยแนวความคิดเชิงบูรณาการในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การซึ่งเป็นประเด็นและอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนองค์การไปสู่สิ่งที่พึงปรารถนา ไม่เว้นแม้แต่องค์การภาครัฐ หรือระบบราชการที่จะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและวัฒนธรรมองค์การให้สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น