วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

องค์ประกอบการจัดการความรู้

        
องค์ประกอบการจัดการความรู้

         ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้อยู่รอดได้ แต่ความรู้มีความซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลง และสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารรวมถึงวิทยาการและนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น ล้วนต้องใช้ความรู้ในการพัฒนาทั้งสิ้น ผู้บริหารขององค์การจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับความรู้ของคนในองค์กร โดยนำกลยุทธ์การจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการบริหาร
          ปัจจุบันการจัดการความรู้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งกระบวนการจัดการความรู้มีหลายรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญของทุกรูปแบบคือการกำหนดความรู้ที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ขององค์การ เพื่อส่งผลให้องค์การบรรลุเป้าหมาย การแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำความรู้ของพนักงานแต่ละคนในองค์การมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนและต่อยอด ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บความรู้ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้งาน แต่ความสำเร็จในนำการจัดการความรู้มาใช้พัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์การต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ผู้นำและกลยุทธ์ วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างพื้นฐานและทีม เทคโนโลยีและการสื่อสาร การวัดและประเมินผล

ผู้นำและกลยุทธ์
          ผู้นำหรือผู้บริหาร มีความสำคัญต่อการดำเนินการจัดการความรู้ เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ เป้าหมาย และเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ ผู้บริหารต้องมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลลัพธ์ของการจัดการความรู้ ต้องให้การสนับสนุนทรัพยากรงบประมาณ และเวลา อย่างพอเพียง แสดงภาวะผู้นำในการสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานที่รับผิดชอบ และบุคลากรทั่วไป รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดี ในการดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ ผู้นำทีมการจัดการความรู้จะต้องให้การยอมรับสมาชิกทีมทุกคน เพื่อให้สมาชิกทีมมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม มีการกระตุ้นให้บุคลากรในองค์การ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ผู้นำต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้สมาชิกเต็มใจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดการความรู้ ตลอดจนสร้างบรรยากาศที่มีความอบอุ่นและเป็นมิตร เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและสามารถดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ได้อย่างมี
ประสิทธิผล 
        ส่วนกลยุทธ์ เป็นการเลือกใช้วิธีในการดำเนินงานการจัดการความรู้ ซึ่งขึ้นกับบริบทและปัจจัยแวดล้อมขององค์การนั้น แผนกลยุทธ์ในการจัดการความรู้ ควรเลือกทำในเรื่องที่สามารถบูรณาการเข้ากับงานประจำได้ กลยุทธ์การจัดการความรู้ตามแนวคิดของ แฮนเซนและคณะ (Hansen, Nohria, and Tierney) มี 2 แบบ คือ กลยุทธ์ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากความรู้แบบชัดแจ้ง(Codification strategy) เป็นกลยุทธ์ที่พยายามแปลงความรู้ทุกอย่างให้อยู่ในรูปแบบของความรู้แบบชัดแจ้งให้มากที่สุด ดำเนินการโดยรวบรวมข้อมูลสำคัญๆบันทึกในสื่อต่างๆหรือระบบฐานข้อมูล และกลยุทธ์ ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่สะสมในบุคคล (Personalization strategy) เป็นกลยุทธ์ที่เน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง กลยุทธ์นี้จะใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการสื่อสาร

วัฒนธรรมองค์กร
          เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ระหว่างบุคคลในองค์กร ผู้บริหารต้องสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมแนวคิดเชิงบวก และสร้างบรรยากาศให้บุคลากรเกิดความไว้วางใจกัน รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่และเพิ่มพูนความรู้ในการทำงานแก่คนในองค์กร ซึ่งแนวทางการจัดการวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการบริหารจัดการความรู้ มี 3 แนวทาง คือ การธำรงรักษาวัฒนธรรมเดิม ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางส่วน และ สร้างวัฒนธรรมขึ้นใหม่ ถ้าผู้นำรู้จักวิธีสร้าง และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรอย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จในการนำการจัดการความรู้ไปใช้
ที่มา http://www.stou.ac.th/study/sumrit/10-53(500)/page7-10-53(500).html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น