วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

องค์การประกอบของการบริหารงานที่ดี

องค์การประกอบของการบริหารงานที่ดี
องค์การจะต้องมีการ บริหารงานที่ดี การบริหารงานที่ดีมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ผู้นำหรือผู้บังคับบัญชา ผู้ปฏิบัติและ บรรยากาศในการทำงาน
ผู้นำในองค์การ ผู้นำ หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าทำหน้าที่ตัดสินใจ ผู้นำมีความสามารถในการควบคุมปกครองบังคับบัญชา และนำผู้ใต้บังคับบัญชาไปในทิศทางใดก็ได้ ผู้นำบางคนก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการ บางคนก็ไม่ได้รับการแต่งตั้ง สำหรับบางคนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่สามารถควบคุมบังคับบัญชาชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมมือร่วมใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ก็นับว่ามีภาวะผู้นำคำว่าผู้นำมีชื่อเรียกว่าต่างๆ เช่น หัวหน้า ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา หรือคำที่เรียกชื่อต่างๆ เช่น ผู้จัดการ เป็นต้น ผู้นำมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะมีความเกี่ยวข้องกับมนุษยสัมพันธ์มากบ้างน้อยบ้าง คือ 1) ประเภทของผู้นำตามทัศนะต่างๆ และ 2) การจัดลำดับขั้นการบังคับบัญชาของผู้นำหรือผู้บริหาร
ประเภทของผู้นำ มีการจำแนกผู้นำออกได้ตามทัศนะต่างๆ ดังนี้คือ
ผู้นำที่จำแนกตามการใช้อำนาจหน้าที่ เป็นผู้นำที่รู้จักกันแพร่หลาย มี 3 ประเภทคือ
ผู้นำแบบเผด็จการ ผู้นำประเภทนี้มีความเชื่อมั่นในตนเองในระดับสูง ชอบใช้อำนาจสั่งการ ตัดสินปัญหาด้วยอารมณ์นับได้ว่าขาดหลักมนุษยสัมพันธ์อย่างยิ่ง เพราะขาดการยกย่องให้เกียรติผู้อื่นไม่ยอมรับฟังความ คิดเห็นผู้อื่น ไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนกันทุกคน คือใช้คำสั่งการให้ปฏิบัติตามอย่างเดียว การปฏิบัติตามอย่างเดียว การปฏิบัติตนเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้ร่วมงานเกิดความไม่พอใจหมดกำลังใจ ในการทำงาน
ผู้นำแบบต่างสบาย ผู้นำประเภทนี้เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ในระดับต่ำเพราะไม่สนใจผู้ร่วมงาน ไม่สนใจงาน วางตัวโดดเดี่ยวไม่มีการควบคุมการทำงานผู้ร่วมงาน บางคนอาจจะพอใจเพราะไม่ต้องทำอแะไรแต่ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะ ไม่พอใจเพราะผู้ร่วมงานต้องการความสำเร็จ ต้องการเกียรติยศชื่อเสียง แต่ผู้นำประเภทนี้ไม่อาจสนองความต้องการดังกล่าวได้
ผู้นำแบบประชาธิปไตย ผู้นำประเภทนี้ใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ในระดับสูง คือ การให้เกียรติ ยอมรับผู้ร่วมงาน โดยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น  จัดสรรแบ่งงานเหมาะสมและสอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล  รับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำให้เสรีภาพในการทำงานและการ วิพากษ์วิจารณ์
แฟลนนาแกน (Flanagan, 1961 : 282 - 283) ได้จำแนกผู้นำพฤติกรรมที่แสดงออกได้ 3 ลักษณะ คือ
ผู้นำที่เน้นงาน ผู้นำประเภทนี้ไม่สนใจการสร้างมนุษยสัมพันธ์ เพราะถือประสิทธิภาพของการบังคับบัญชาอยู่ที่งานการวางแผนวินิจฉัย สั่งการและความรับผิดชอบจะเน้นความสำเร็จของงาน เท่านั้น ผู้ร่วมงานอาจจะหมดกำลังใจในการทำงานได้เพราะไม่ได้รับการเอาใจ ใส่จากผู้นำเท่าที่ควร
ผู้นำที่เน้นผลงานและความพอใจของบุคคลทุกฝ่ายผู้นำประเภทนี้เข้าใจ ธรรมชาติของมนุษย์ คำนึงถึงผู้ร่วมงานในระดับสูงเพราะผู้นำประเภท นี้คิดว่าประสิทธิภาพของงานจะเกิดขึ้นเพราะความพึงพอใจของผู้ร่วม งาน โดยให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการวางแผน วินิจฉัยสั่งการ ร่วมรับผิดชอบผลสำเร็จของงานเป็นกลุ่ม ผู้นำประเภทนี้ย่อมมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงาน
ผู้นำที่เน้นประสิทธิภาพของการบังคับบัญชาผู้นำประเภทนี้ถือว่า ประสิทธิภาพของงานจะเกิดขึ้นได้โดยการให้สินจ้างรางวัล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลงานและความสำเร็จก็นับได้ว่าผู้นำประเภท นี้สร้างมนุษยสัมพันธ์ด้วยการใช้สิ่งจูงใจเป็นรางวัล
เรดดิน (Reddin, 1970 : 215 - 234) ได้กำหนดลักษณะผู้นำออกเป็น 8 ลักษณะ ดังนี้
ผู้นำแบบหนีงาน (Deserter) เป็นผู้นำที่ขาดมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะไม่สนใจความสำเร็จของงาน ไม่สนใจการทำงานและ ขัดขวางการทำงานผู้อื่นผู้ร่วมงานย่อมไม่สนใจและโกรธเคืองผู้ที่มา ขัดขวางการทำงานของเขา
ผู้นำแบบนักบุญ (Missionary) ผู้นำประเภทนี้คำนึงถึงสัมพันธภาพยิ่งกว่าสิ่งใดๆ มีความเมตตา และไม่กล้าโต้แย้งหรือขัดขวางการกระทำใดๆ ที่ไม่เหมาะสมหรือที่ขัดขวางความก้าวหน้าขององค์การ ไม่คำนึงถึงผลงานมากนัก แต่คำนึงถึงบรรยากาศการทำงานที่อบอุ่นสบายใจเป็นกันเอง ผู้นำประเภทนี้จะคำนึงถึงหลักมนุษยสัมพันธ์ในเรื่องตนเองสุข ผู้อื่นสุข และสังคมมีประสิทธิภาพแต่การใช้มนุษยสัมพันธ์มากเกินไปทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพผู้นำประเภทนี้จึงนับได้ว่าเป็นผู้นำที่ไม่มีคุณภาพ
ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocrat) ผู้นำประเภทนี้คำนึงถึงผลงานอย่างเดียว ชอบใช้อำนาจ ใช้คำสั่ง บังคับ ควบคุม ดังได้กล่าวมาแล้ว ผู้นำประเภทนี้ไม่คำนึงถึงมนุษยสัมพันธ์ ไม่คำนึงถึงการจูงใจและศักดิ์ศรีมนุษย์โดยสิ้นเชิง
ผู้นำแบบประนีประนอม (Compromisor) ผู้นำประเภทนี้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานและมนุษยสัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน  เขาจึงเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี เห็นอกเห็นใจผู้ร่วมงานและใช้วิธี ประนีประนอม แต่ขาดความสามารถในการตัดสินใจที่แน่นอน ทั้งนี้เพราะเป็นคนโลเล ขาดความเด็จขาด
จะเห็นได้ว่าผู้นำ 4 ประเภทแรกเป็นผู้นำที่ขาดประสิทธิภาพ
ผู้นำที่ทำตามกฎระเบียบอย่างเดียว (Bureaucrat) สนใจงานแต่ ไม่เอาตัวไปผูกพันกับปัญหาต่างๆเพราะเขาคำนึงถึงกฎระเบียบที่ถูกต้อง และเคร่งครัด สัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานจึงน้อย มิได้มีผลงานใหม่ๆ แต่การคำนึงถึงกฎระเบียบที่ถูกต้องและยุติธรรมทำให้เกิดประสิทธิภาพ ในการทำงาน
ผู้นำแบบนักพัฒนา (Developer) นักพัฒนาจะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม รู้จักจูงใจผู้ร่วมงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีมุ่งพัฒนาบุคคลและใช้เวลา ส่วนใหญ่กับเพื่อนร่วมงานกระตุ้นเร่งเร้าให้คนเหล่านั้นทำงานอย่าง มีประสิทธิภาพ
ผู้นำเผด็จการอย่างมีศิลปะ (Benevolent Autocrat) จะเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในการทำงานมีความชำนาญในการทำงานจนทำ ให้ผู้ร่วมงานมีความพอใจแม้จะมีลักษณะเผด็จการแต่ผู้นำประเภทนี้จะ ทำงานอย่างมีศิลปะ นุ่มนวลมีมนุษยสัมพันธ์ และมีประสิทธิภาพ
ผู้นำแบบนักบริหาร (Executive) ผู้นำประเภทนี้จะคำนึงถึง ความสำเร็จของงานและสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงานไปพร้อมๆกันเขา จะตั้งมาตรฐานในการทำงานสูง ทำตนเป็นแบบอย่างในการทำงาน และใช้ผู้ร่วมงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุดโดยเปิดโอกาสให้เขาได้ มีส่วนร่วมคิดและทำงาน
ผู้นำ 4 ประเภทหลังนับได้ว่าเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและมนุษยสัมพันธ์
ผู้นำประเภทต่างๆ ย่อมมีบทบาทในการบริหารงานในองค์การแตกต่างกันตามบุคลิกภาพของแต่ละคน แต่จะสังเกตได้ว่าผู้นำที่มีประสิทธิภาพมักจะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน
การจัดลำดับขั้นการบังคับบัญชาของผู้บริหารในองค์การ การจัดลำดับขั้นการบังคับบัญชาจะเห็นได้ชัดเจนในองค์การรูปนัย คือ องค์การที่เป็นทางการ มีระบบ กฎเกณฑ์ และรูแบบการบริหารงานที่ชัดเจน การจัดลำดับขั้นในการบังคับบัญชากำหนดให้ผู้อื่นมีตำแหน่งสูงกว่ามีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบมากกว่าผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า และมีอำนาจสั่งการ ปกครองบังคับบัญชาลดหลั่นลงมา
การแบ่งกลุ่มผู้บริหารได้ ดังนี้
ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร ประธานองค์การ และรองประธานองค์การ ซึ่งจะต้องมีทักษะทางด้านความคิดมากที่สุด มีทักษะมนุษยสัมพันธ์และทักษะด้านเทคนิคครองลงมาของบุคคลและขององค์การให้สอดคล้องกัน มาอำนาจตัดสินใจในการสั่งการ
ผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับกลางประกอบด้วยผู้จัดการฝ่าย รองผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการแผนกต่างๆ ผู้บริหารระดับกลางจะต้องเข้าใจปัญหาของงานอย่างลึกซึ้ง เพราะจะต้องเสนอแนะต่อผู้บริหารระดับสูง และต้องทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของคนในองค์การ ดังนั้น ผู้บริหารระดับกลางจะต้องมีทักษะมนุษยสัมพันธ์มากที่สุด
ผู้บริหารระดับต้น ได้แก่ หัวหน้าคนงาน ซึ่งจะต้องมีทักษะด้านเทคนิคมากที่สุด เพราะต้องดูแลการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน แนะนำวิธีปฏิบัติงานได้
ทักษะด้านต่างๆ ของผู้บริหารทั้งสามระดับ
ทักษะด้านเทคนิค
ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาที่รับทราบหน้าที่ของตน ย่อมมีประโยชน์ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่รู้จักหน้าที่ของตนย่อมไม่ทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ จนทำให้เกิดการก้าวก่ายหน้าที่กัน ความขัดแย้งจึงไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้การจัดลำดับขั้นการบังคับบัญชา เป็นการแบ่งแยกหน้าที่กันทำ การทำหน้าที่ของตนนอกจากจะไม่ก้าวก่ายหน้าที่กันแล้วยังทำให้เกิดความชำนาญ ในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น ทำฝากระป๋อง ย่อมทำให้เกิดความชำนาญในการทำงานของตน พร้อมทั้งส่งผลให้เกิดผลผลิตในระดับสูง ดังนั้นการแบ่งแยกหน้าที่โดดยการจัดลำดับขั้นการบังคับบัญชาย่อมมีผลต่อมนุษยสัมพันธ์ เป็นอย่างยิ่ง
ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ที่ปฏิบัติหรือที่อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีธรรมชาติความต้องการและ บุคลิกภาพที่แตกต่างกัน การที่บุคคลมีความแตกต่างกันจึงทำให้ยากแก่การบังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงต้องเป็นผู้ชาญฉลาดศึกษาและสังเกตความต้องการของบุคคลเหล่านี้จาก พฤติกรรมการทำงานของเขาว่าเป็นเช่นไรพฤติกรรมการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ย่อมมีมูลเหตุมาจากความต้องการ แรงจูงใจภายในและภายนอกแม้บุคคลจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้ในเวลาจำกัดแต่ก็สามารถทำสิ่งอื่นๆได้ในเวลาต่อมา จากข้อเท็จจริงข้อนี้จึงทำให้รู้ว่า การให้บุคคลทำงานอย่างเดียวเป็นการใช้ความสามารถของเขาไม่เต็มที่และทำให้เขา เบื่อหน่ายด้วยบุคคลจะทำงานได้ดีนั้นต้องรับรู้ 1) จุดมุ่งหมาย ว่าต้องทำอะไร หรือ องค์การต้องการอะไร 2) วิธีการทำงาน ว่าทำอย่างไรแต่อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการทำงาน ยังแตกต่างตามบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลความแตกต่างระหว่างบุคคลดังกล่าวย่อมชี้ให้เห็น แนวทางในการติดต่อสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีผู้บังคับบัญชาจะต้องรู้จักบุคคลในองค์การใน ฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และจะต้องศึกษาพฤติกรรมของบุคคลว่าเกิดจากอะไรบ้าง อาจเกิดจากบรรยากาศในการทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ควรจะศึกษา
บรรยากาศในองค์การบรรยากาศในองค์การก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะขัดขวางหรือ เสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ บรรยากาศในองค์การแต่ละองค์การมีลักษณะเป็นสากล เช่น มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การติดต่อสื่อสาร การประสานงาน ความร่วมมือ ความขัดแย้ง เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามแต่ละองค์การก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น บางองค์การมีงานมาก ผลการทำงานก็มีประสิทธิภาพ บางองค์การมีการย้ายเข้าและออกบ่อย เป็นต้นทั้งนี้อาจจะ เป็นเพราะบรรยากาศขององค์การ เช่น ผู้บังคับบัญชาเห็นแก่พรรคพวก ขาดความยุติธรรม การพิจารณาผลงานขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา พวกพ้องลูกศิษย์ไม่สนใจ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้บรรยากาศมีแต่ความขัดแย้ง การทำงาน ของคนส่วนใหญ่ซบเซา หมดกำลังใจ ขาดขวัญในการทำงานแต่ถ้าองค์การ ใดผู้บังคับบัญชามีความยุติธรรม เสียสละ ใช้ระบบคุณธรรมแทนระบบอุปถัมภ์ บรรยากาศในการทำงานจะเต็มไปด้วยความรักใคร่สามัคคี ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน มีความเสียสละเพื่องาน ความสัมพันธ์อันดีย่อมเกิดขึ้น
บรรยากาศขององค์การจะเป็นเช่นไรนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการตามที่ เจมส์ และโจนส์ (James and Jones, 1974 : 1096 - 1112) ; พัฟ, ฮิคสัน ไฮนิ่ง และ เทอร์เนอร์ (Pugh Hickson, Hining and Turner, 1968 : 65 -105) สรุปว่าองค์ประกอบต่างๆขององค์การที่ทำให้เกิดบรรยากาศในการทำงานมีดังนี้
องค์ประกอบด้านปัจจัยแวดล้อม (Context)
วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การ ถ้าวัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจนและปฏิบัติได้ทุกคนก็สบายใจ
เจ้าของกิจการและการควบคุมองค์การ ถ้าหากเจ้าของกิจการคอยดูแลและควบคุมอย่างเคร่งครัด คอยจับผิดอยู่ตลอดเวลาย่อมทำให้บรรยากาศของการทำงานเต็มไปด้วยความ น่ากลัว ทุกคนจะรู้สึกหวาดกลัวและขาดความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน
กฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติ ถ้ากฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป จะทำให้บรรยากาศตึงเครียด ทุกคนต้องระมัดระวังไม่ทำให้ผิดกฎ
สาขาย่อยขององค์การมีมากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดผลในการทำงานหรือไม่ เช่น ถ้าสาขาย่อยมีมาก การดูแลเอาใจใส่ของผู้ร่วมงานจะน้อยลง
แหล่งวัสดุที่จะมาป้อนโรงงาน แหล่งวัสดุที่จะมาป้อนโรงงานก็ย่อมมีผลต่อบรรยากาศการทำงานเหมือนกัน เช่น ถ้าวัสดุไม่พอย่อมทำให้การทำงานหยุดชะงัก เกิดความอึดอัดใจในการทำงาน
องค์ประกอบด้านโครงสร้างขององค์การ (Structure) องค์ประกอบด้านโครงสร้างต่างๆ เช่น ขนาดขององค์การ การตัดสินใจ ลักษณะเฉพาะขององค์การ มาตรฐานการผลิตและการบริหาร
ขนาดขององค์การ ถ้าขนาดขององค์การใหญ่เกินไป พนักงานบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการเอาใจใส่ คนที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่ ก็จะหมดกำลังใจในการทำงาน
การตัดสินใจภายในองค์การ การตัดสินใจอาจจะมาจากส่วนกลาง หรือแบ่งความรับผิดชอบให้ผู้บริหาร แต่ละระดับตัดสินใจ ถ้าผู้บริหาร ตัดสินใจมาจากส่วนกลาง ก็นับได้ว่าเป็นการรวมอำนาจไว้เพียงผู้เดียว ขาดความไว้วางใจผู้อื่นจะทำให้เกิดความอึดอัดใจในการทำงาน ถ้าผู้นำระดับสูงที่อยู่ในส่วนกลางไม่อยู่ การทำงานก็ต้องหยุดชะงัก
คุณลักษณะเฉพาะขององค์การ เช่น มีลักษณะเด่นในเรื่องมาตรฐาน การผลิตที่ดีเยี่ยม มีกระบวนการที่มีระบบจนกระทั้งบางครั้ง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานขาดความสุขเพราะต้องคำนึงถึงชื่อเสียงขององค์การ ตลอดเวลา
องค์ประกอบด้านวิธีดำเนินงานขององค์การ (Process) ได้แก่
ลักษณะของผู้นำ ผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรยากาศดีหรือไม่ดี บุคคลมีความสุขหรือทุกข์ทรมาน
การติดต่อสื่อสารภายในองค์การ การติดต่อสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อบรรยากาศในองค์การ ถ้าการติดต่อสื่อสารชัดเจน เปิดเผย ทั่วถึงและรวดเร็ว ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงานส่วนจะใช้วิธีใดในการสื่อสารให้เกิดสัมพันธภาพนั้น ผู้เขียนขอกล่าวถึงในตอนต่อไป
การควบคุม องค์การแต่ละองค์การมีระบบการควบคุมที่ก่อให้เกิดบรรยากาศที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าองค์การนั้นควบคุมโดยใคร วิธีใด หรือการแบ่งสายงานการควบคุมเป็นอย่างไร
การแก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์การ ถ้าองค์การใช้วิธีแก้ ปัญหาความขัดแย้งที่มีระบบ เช่น มีศาลแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ การแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างมีระบบย่อมจะก่อให้เกิดบรรยากาศ ในการทำงานที่ดี แต่ถ้าองค์การปล่อยให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น และผ่อนคลายไปเอง ความไม่พอใจย่อมเกิดขึ้น
การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงภายในองค์การ การเปลี่ยนแปลง และการปรับปรุงองค์การย่อมมีผลกระทบต่อบรรยากาศในการทำงาน ผู้บริหารใช้วิธีเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเพื่อมิให้กระทบต่อสัมพันธภาพ ที่ดีกับผู้ร่วมงาน
การร่วมมือประสานงานระหว่างบุคคลในองค์การ การร่วมมือประสานงาน ระหว่างบุคคลย่อมเกิดจากบรรยากาศการบริหารที่ดี ในขณะเดียวกัน การร่วมมือประสานงานก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการบริหารที่ก่อให้เกิด สัมพันธภาพที่ดีเช่นกัน
การคัดเลือกคนเข้าทำงาน วิธีการคัดเลือกคนเข้าทำงานนั้นองค์การใช้วิธี ใด ถ้าหากคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานโดยอาศัยพรรคพวกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ก็ย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะถ้าเอาพรรคพวกของตนมาทำงาน แทนคนที่ทำงานอยู่ก่อน ยิ่งทำให้บรรยากาศเลวร้ายลงไปอีก
การเข้าสังคมและการเรียนรู้สังคมของสมาชิก องค์การควรมีระบบการฝึกอบรม หรือระบบถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณี เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการ พิจารณาความดีความชอบและโอกาสความก้าวหน้าของผู้ร่วมงาน
การให้รางวัลและการลงโทษ การให้รางวัลและการลงโทษที่เหมาะสมยุติธรรม ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
การตัดสินใจ การตัดสินใจย่อมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ก่อให้เกิดบรรยากาศ ในการทำงานดังกล่าวแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพและอำนาจ ถ้าหากสถานภาพ และอำนาจของแต่ละคนในองค์การมีความสอดคล้องกัน ย่อมก่อให้เกิดความ พึงพอใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อขวัญหรือกำลังใจของบุคคล ในองค์การเช่นกัน องค์ประกอบดังกล่าวได้แก่
ลักษณะของห้องทำงาน ลักษณะของห้องทำงานที่ก่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่ดี ได้แก่ พื้นที่กว้างขวาง มั่นคงแข็งแรง สะอาด อากาศเย็นสบาย แสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทได้ดี มีโต๊ะทำงาน และของใช้ส่วนพอสมควร
มีอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุในการทำงาน เช่น มีหมวกป้องกันอุบัติเหตุ มีแว่นกันสายตาเสียในงานที่ต้องใช้แสงมากๆ มีเครื่องกรองฝุ่น หรือมีรองเท้าบู๊ตกันน้ำ เป็นต้น
ทำเลที่ตั้งองค์การ ที่ตั้งองค์การอยู่ไกลจากเสียงรบกวนกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง สารพิษต่างๆ
สิ่งแวดล้อมในองค์การ สิ่งแวดล้อมในองค์การอาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ฝุ่นจากแป้งมัน ปูนซีเมนต์ หรือแก๊สพิษ ผู้บริหารต้องตระหนักในเรื่องนี้ และต้องพยายามป้องกันมิให้มลพิษเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นพิษแก่คนในองค์การแล้วอาจเป็นพิษต่อชุมชน ชุมชนอาจร้องทุกข์ให้ปิดโรงงานได้
ความต้องการผลผลิตขององค์การ หากผลผลิตที่ออกมาไม่เป็นที่นิยม ไม่เป็นที่ต้องการ หรือตลาดต้องการในระยะสั้นจะทำให้ผู้ร่วมงานหวาดวิตกว่า ในอนาคตจะไม่มีงานทำ แต่ถ้าผลผลิตขององค์การเป็น ที่ต้องการของตลาด ในระยะยาวก็จะทำให้ผู้ร่วมงานเกิดความมั่นคงปลอดภัย ในการทำงาน
องค์ประกอบด้านค่านิยมและมาตรฐานพฤติกรรม (Values and Norm)
การปฏิบัติตามคำสั่ง องค์การใดผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กระด้างกระเดื่อง ต่อต้านผู้บังคับบัญชา จะทำให้บรรยากาศ ในการทำงานไม่ราบรื่น
ความมีเหตุผล ถ้าทุกคนมีเหตุผลในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหาต่างๆ ย่อมไม่ตึงเครียดและนำไปสู่ความร่วมมือในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
การประสานงาน ถ้าหากมีการประสานงานอย่างมีระบบ ก็จะทำให้ความขัดแย้งน้อยลง ทุกคนจะร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างมีความสุข
ความสื่อสัตย์ของบุคคลในองค์การ ความสื่อสัตย์ของบุคคล ในองค์การนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งทั้งในองค์การรัฐบาล และองค์การธุรกิจ โดยเฉพาะองค์การธุรกิจนั้นต้องมีการแข่งขัน ต้องปกปิดข้อมูล บางอย่างเป็นความลับ สมาชิกในองค์การจะต้องรักษาความลับขององค์การเอาไว้
                จะเห็นว่าองค์ประกอบขององค์การด้านต่างๆ จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในองค์การ และบรรยากาศเหล่านี้จะเป็นผลต่อการทำงานของบุคคลในองค์การเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะ พฤติกรรมการทำงานเกิดจากการที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับบรรยากาศในองค์การ พฤติกรรม ดังกล่าวเรียกว่าพฤติกรรมองค์การพฤติกรรมองค์การเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพฤติกรรม ทัศนคติ ปริมาณงานของผู้ปฏิบัติงานในองค์การ การยอมรับของกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ การทำงานของมนุษย์ที่มีต่อองค์การ (อรุณ รักธรรม 2526 : 6) เนื้อหาขอบข่ายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมองค์การ คือ การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อม ของการนทำงานนั่นเอง เลอวิน (Lewin, 1938 อ้างใน จรูญ ทองถาวร 2531 : 132) ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมองค์การเป็นผลมาจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมอาจเขียนย่อ เป็นสูตรได้ดังนี้
            พฤติกรรมในที่นี้หมายถึงพฤติกรรมองค์ากรที่เกิดขึ้นเพราะบุคคลมีปฏิสัมพันธ์หรือติดต่อ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศ โต๊ะทำงาน เครื่องมือเครื่องใช้ ใน การทำงาน หรือห้องทำงานที่ร้อนอบอ้าว เป็นต้น ถ้าบุคคลที่ต้องทำงานอยู่ในห้องที่ร้อนอบอ้าว ก็อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พอใจ เช่น หน้านิ่ว คิ้วขมวด บ่นด้วยความไม่พอใจมากกว่าบุคคล ที่ทำงานในห้องปรับอากาศซึ่งมีสีหน้าสดชื่น ยิ้มแย้ม แจ่มใส 2) สิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น การร่วมมือ การแข่งขัน หรือความเห็นอกเห็นใจ เป็นต้น บุคคลที่ต้องทำงานในบรรยากาศที่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ก็ย่อมมีความสุขตรงกันข้ามกับบุคคลที่ต้องทำงานอยู่ในบรรยากาศที่มีแต่การแข่งขัน หรือชิงดีชิงเด่น ซึ่งกันและกัน ย่อมจะเกิดความเครียด และไร้ความสุข พฤติกรรมต่างๆดังกล่าวเกิดจากบุคคล ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ผลที่เกิดจากพฤติกรรมย่อมนำไปสู่เป้าหมาย คือผลผลิตและบริการ ขององค์การ รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลในองค์การด้วย
อ้างอิง
            มรว. สมพร สุทัศนีย์. มนุษยสัมพันธ์. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น